วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Digital Library ห้องสมุดบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์

 

           Digital Library (ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์)  หมายถึง  การจัดเก็บสารสนเทศในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์  แทนที่จะจัดเก็บในรูปของสื่อพิมพ์  ขณะนี้ได้เริ่มมีการใช้วิธีการเช่นนี้แล้ว  แต่คงต้องรออีกนานทีเดียวกว่าที่ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถแทนที่ห้องสมุดแบบดั้งเดิม หรือ แม้แต่เพียงจะสามารถมีบทบาทเทียบเคียง กับห้องสมุดแบบดั้งเดิม  ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเหตุผลหลายประการ  ประการแรก  สิ่งพิมพ์ที่มีอยู่แล้วมีเป็นจำนวนมาก  หากจะนำมาดิจิไทซ์  (digitize) หรือแปลงเป็นสารสนเทศแบบดิจิทัล  ก็ต้องลงทุนลงแรงมหาศาลประการที่สอง  ผู้ใช้สารสนเทศส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน  ยังคุ้นเคยกับการอ่านหนังสือมากกว่าการอ่านจากจอคอมพิวเตอร์  แต่เรื่องนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้  เมื่อคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาการของจอคอมพิวเตอร์ทำให้อ่านได้สบายตามากขึ้น สามารถอ่านได้ครั้งละนานๆ มากขึ้น ประการที่สาม ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และวิธีการจัดการกับปัญหานี้  ในกรณีที่ต้องการแปลงสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่เป็นสารสนเทศแบบดิจิทัลเพื่อนำออกเผยแพร่  ยังไม่มีกฎหมายหรือหลักการที่เป็นสากลว่าด้วยเรื่องนี้   หากยังต้องอาศัยการตกลงกันเองระหว่างคู่กรณีเป็นรายๆ ไป ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง  อย่างไรก็ตามการแปลงสิ่งพิมพ์เป็นสารสนเทศดิจิทัลนั้น  เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ  เพื่อการอนุรักษ์สิ่งพิมพ์เก่าๆไว้เอกสารที่เป็นกระดาษนั้น  หากจัดเก็บถูกวิธีอาจสามารถอยู่ได้นับพันปี  เช่น  เอกสารที่ทำด้วยกระดาษปาปิรัส สมัยอียิปต์หรือบาลิโลเนียยังมีหลงเหลือให้เห็นได้ตามพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ  ของโลก  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  หนังสือหรือเอกสารที่เป็นกระดาษจะมีอายุใช้งานเพียง  100 -  200 ปีเป็นอย่างมาก  ตัวอย่างเช่น  หนังสือเรื่อง  The Pilgrim Kamanita  ซึ่งเป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เสถียรโกศ  และนาคประทีป  นำมาแปลและเรียบเรียงเป็นฉบับภาษาไทย  ชื่อ กามนิต  วาสิฏฐี  นั้น ขณะนี้เหลืออยู่ที่  The British Museum ที่กรุงลอนดอนเพียงเล่มเดียวเท่านั้น  และอยู่ในสภาพถูกเก็บตาย  เพราะกระดาษกรอบหมดแล้ว นำมาเปิดอ่านไม่ได้ เอกสารทำนองนี้ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก และต้องหาวิธีอนุรักษ์ไว้ให้ได้เพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า  และบางอย่างเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ วิธีอนุรักษ์วิธีหนึ่ง คือ การนำมากราดตรวจ  หรือ  ถ่ายภาพหน้าต่อหน้า แล้วบันทึกใส่ซีดีรอม  (CD-ROM) ไว้  อย่างไรก็ตามซีดีรอมเองก็ไม่ได้มีอายุยืนยาวมากมายนัก  เชื่อกันว่าสามารถจะเก็บได้นาน 30 – 50 ปี เท่านั้น  แต่ถ้ามีการทำสำเนาก่อนที่ซีดีรอมแผ่นนั้นจะหมดอายุ ก็สามารถเก็บไปได้ตลอด  เพราะการทำสำเนาข้อมูลดิจิทัลนั้นจะได้สำเนาที่มีคุณภาพเท่าต้นฉบับดิจิทัล ไม่มีการเสื่อมลงทุกครั้งที่ทำสำเนาเหมือนระบบอนาลอค  ดังนั้น ห้องสมุดดิจิทัลจะสามารถให้บริการเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ   ที่มีอายุมากๆได้

           รูปแบบของเอกสารที่จัดเก็บและให้บริการในห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์นั้น  ขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนา  ซึ่งจะยังมีการเปลี่ยนแปลงไปได้  แม้ว่าจะเริ่มมีการวางมาตรฐานกันบ้างแล้วก็ตาม รูปแบบที่ได้รับการกล่าวขานกันมากที่สุดขณะนี้  คือ  อีบุ๊ค  (E-book)  หรือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์  กับ  อีเจอร์นัล  (E-journal) หรือ วารสารอิเล็กทรอนิกส์  และ  อีแมกกาซีน (E-magazine)  หรือนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์  ความได้เปรียบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เหนือ  สื่อสิ่งพิมพ์หลายประการ  ประการแรก  ต้นทุนในการจัดทำต่ำกว่า  ประการที่สอง  สามารถใช้สื่อประสม  (Multimedia)  มาประกอบได้  คือ  มีได้ทั้งภาพนิ่ง   ภาพเคลื่อนไหว   (ทั้งที่เป็นรูปวาด  รูปถ่าย  และวีดิทัศน์)  และเสียงด้วย ประการที่สาม  สามารถมี  การเชื่อมโยงข้อความหลายมิติ  (Hypertext)  เพื่ออธิบายขยายความ  หรือ  เพื่อขยายขนาดของภาพประกอบให้ใหญ่ขึ้นหรือชัดเจนขึ้น  ประการที่สี่  สามารถค้นหารายละเอียดคำสำคัญต่างๆโดยใช้วิธีการของ   โปรแกรมค้นหา  ( Search engine)  ซึ่งรวดเร็วทันใจ  และมีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบดัชนี  (Index)  ของหนังสือ   ส่วนข้อเสียเปรียบที่สำคัญ  คือ  ต้องใช้คอมพิวเตอร์และใช้ไฟฟ้าในการเปิดอ่าน

 

          ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์  ต่างกับห้องธรรมดาตรงที่ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์  ไม่จำเป็นต้องมีอาคารสถานที่  เพียงแต่มี  คอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Sever)  สำหรับเก็บข้อมูล  มีเครือข่าย (Network)  ต่อเชื่อมไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย  (Clients)  ที่ให้บริการ ซึ่งอาจกระจายอยู่ตราที่ต่างๆ  ก็ได้  เครือข่ายนั้นจะเป็นเครือข่ายส่วนตัว  Private  Network  หรือ  Intranet) ที่ใช้ภายในองค์กรก็ได้  หรือจะเป็นเครือข่ายสาธารณะ   เช่น   อินเทอร์เน็ต

 

clip_image002[1]

ภาพแสดง  ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

 

          ในต่างประเทศส่วนใหญ่  ห้องสมุดสาธารณะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป  ทุกท้องที่ระดับอำเภอซึ่งมีประชากรตั้งแต่  10,000  คนขั้นไป  จะมีห้องสมุดสาธารณะขององค์การปกครอง  ท้องถิ่น  แต่ในประเทศไทยห้องสมุดเช่นนี้จะมีตามเมืองใหญ่ๆ  ที่มีเทศบาลเมืองเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น การใช้ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์แทนห้องสมุดธรรมดา  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถกระจายบริการห้องสมุดสาธารณะออกไปให้ทั่วถึงทุกอำเภอได้โดยลงทุนไม่มากนัก  เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น